วันพุธที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

“ฮิลล์คอฟฟ์” ดังไกล มาเลย์ปลื้ม ใช้ชื่อแบรนด์ตั้งร้านที่ปีนัง

ด้วยความที่เชียงใหม่เป็นแหล่งใหญ่ในการปลูกกาแฟของบ้านเรา ที่นี่จึงเป็นต้นกำเนิดของผลิตภัณฑ์กาแฟหลากหลายแบรนด์ หนึ่งในนั้นก็คือ “ฮิลล์คอฟฟ์” ที่มี “คุณนฤมล ทักษอุดม” นั่งเก้าอี้กรรมการผู้จัดการ บริษัท ชาวไทยภูเขา (ฮิลล์คอฟฟ์) จำกัด ซึ่งถือเป็นบริษัทผลิตกาแฟเก่าแก่ขนาดใหญ่ของจังหวัดเชียงใหม่ ปัจจุบันทำแบบครบวงจร เพราะนอกจากจะมีสวนกาแฟเองแล้ว ยังมีเครือข่าย และมีร้านกาแฟ พร้อมเปิดบริการสอนและขายอุปกรณ์เกี่ยวกับกาแฟครบครันด้วย
มีรางวัลการันตี
คุณนฤมลถือเป็นทายาทสืบทอดกิจการรุ่นที่ 3 ต่อจากคุณพ่อคุณแม่ ซึ่งในยุคของเธอนี้ ได้ร่วมมือกับ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) วิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ รวมทั้งปรับปรุงกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมจนได้รับรางวัลมากมาย
คุณนฤมลกล่าวว่า เป้าหมายของบริษัท จะใช้นวัตกรรมทำกาแฟให้เป็นซุปเปอร์ฟู้ด เพื่อเพิ่มมูลค่าของกาแฟ ซึ่งเมื่อปีที่แล้ว ผลิตภัณฑ์ใหม่ 2 ตัวของบริษัท ได้รับรางวัล โดยชากาแฟเชอร์รี่ (Coffee Cherry Tea) ได้รับรางวัล NSP Innovation 2015 ประเภทผลิตภัณฑ์นวัตกรรม จากอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ เป็นการนำเปลือกกาแฟเชอร์รี่ไปทำแห้งด้วยเทคนิคไมโครเวฟฟรีซดราย ซึ่งใช้นวัตกรรมและกระบวนการที่รักษาคุณประโยชน์ได้มากที่สุด ขั้นต้นพบสารต้านอนุมูลอิสระ (Antioxidant) ในปริมาณที่สูง มีรสชาติอร่อย สามารถประยุกต์ทำเป็นเครื่องดื่มได้หลากหลาย

ขณะที่กาแฟข้าวหอม (Khao Hom Coffee) ได้รับรางวัล NSP Innovation 2015 เช่นกัน แต่เป็นประเภทกระบวนการนวัตกรรม และตัวบรรจุภัณฑ์ยังเข้ารอบ 2 ในการประกวดบรรจุภัณฑ์ยอดเยี่ยม DE Mark 2015 และได้รับรางวัลออกแบบผลิตภัณฑ์ยอดเยี่ยม Chiangmai Design Award 2015 โดยผลิตภัณฑ์กาแฟข้าวหอมนี้นำเสนอนวัตกรรมในหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นกระบวนการผลิต ซึ่งใช้การนำพากลิ่นข้าวหอมมะลิไปยังเมล็ดกาแฟคั่ว (Encapsulation Technique) การนำเสนอวิธีการดื่มแบบใหม่ (Drip Bag) การออกแบบบรรจุภัณฑ์ซึ่งผ่านกระบวนการคิดและออกแบบเป็นอย่างดี
“กาแฟข้าวหอมนี้เป็นผลงานวิจัยของ ดร.เอกสิทธิ์ จงเจริญรักษ์ อาจารย์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งกลิ่นกาแฟยังเป็นหลักอยู่ รสชาติก็ยังเป็นกาแฟ ไม่มีการเปลี่ยนแปลงในเรื่องของรสชาติ เราพามาแค่กลิ่น เหมือนกลิ่นของข้าว ซึ่งเป็นกลิ่นที่ติดได้นาน”
คุณนฤมล บอกอีกว่า ผลิตภัณฑ์ใหม่ที่น่าสนใจอีกตัว คือกาแฟโบราณลุงเป๋อ 3 in 1 เป็นนวัตกรรม ที่ตั้งต้นการวิจัยและพัฒนาจากกาแฟโบราณ นำรสชาติอดีตกลับสู่ปัจจุบัน แล้วทำให้ง่ายต่อการบริโภค ในขณะที่คงสูตรกาแฟโบราณ อันประกอบไปด้วย ART (Arabica, Robusta และ Tamarind) เมล็ดกาแฟอาราบิก้า โรบัสต้า และเม็ดมะขามคั่ว ที่ผสมผสานความเข้มข้น หอมกรุ่น นอกจากนี้ ยังช่วยเพิ่มมูลค่าเมล็ดกาแฟที่ไม่ได้ขนาด ซึ่งโดยปกติเกษตรกรไม่สามารถจำหน่ายได้เพราะตกเกรด แต่ฮิลล์คอฟฟ์รับซื้อทั้งหมด ทำให้เกษตรกรมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

เมล็ดกาแฟคั่ว “หอมไกล” (Homglai) เป็นผลิตภัณฑ์อีกตัวของบริษัท โดยใช้เมล็ดกาแฟจากแหล่งปลูกที่ฮิลล์คอฟฟ์คัดเลือกเป็นพิเศษในแต่ละปี ผ่านการชิมทดสอบโดยนักชิมมืออาชีพ ซึ่งจะมีลักษณะพิเศษแตกต่างกันไปตามสภาพดินฟ้าอากาศเฉพาะของถิ่นนั้นๆ (Characteristics) เป็นกาแฟที่ได้รับการยอมรับจากนักดื่มทั้งในและต่างประเทศ และที่ผ่านมายังได้รับรางวัลออกแบบบรรจุภัณฑ์ยอดเยี่ยม DE Mark Award 2014
ทั้งนี้ “หอมไกล” มีแบรนด์ลูกอีก 6-7 แบรนด์ เช่น เจ้านาง เป็นกาแฟที่มาจากดอยขุนลาว ให้คาแร็กเตอร์เหมือนกลิ่นหอมของดอกไม้ ซึ่งการมีแบรนด์และรสชาติกาแฟที่แตกต่าง สามารถเจาะตลาดได้หลากหลายกลุ่ม

ญี่ปุ่นถูกใจชาสมุนไพร
ใช่ว่าจะทำกาแฟอย่างเดียว ทางบริษัทยังทำ “ชาต้มยำ” ด้วย ซึ่งจดสิทธิบัตรเรียบร้อยแล้ว เป็นการนำกลิ่น รสของสมุนไพรมาอยู่ในเครื่องดื่ม มีตะไคร้ ใบมะกรูด พริก และข่า เป็นหลัก และทำคุกกี้ต้มยำด้วย เพราะสมุนไพรต้มยำช่วยเรื่องการขับเหงื่อ ช่วยย่อยอาหาร นอกจากนี้ ยังมีชาต้มข่า ชาขิงอัญชัน เป็นชาที่ดื่มง่าย เป็นสมุนไพร 100 เปอร์เซ็นต์ เป็นเครื่องดื่มแบบชา แต่ไม่มีใบชาเลย แพ็กในถุงฟอยล์ เก็บกลิ่นอย่างดี มี 10 ซอง ขายในราคา 75 บาท
คุณนฤมล แจงว่า ชาต้มยำและชาสมุนไพรต่างๆ ถือเป็นทางเลือกสำหรับร้านกาแฟที่อยากจะนำเสนอรสชาติของชา เพราะคนดื่มกาแฟบางคนไม่ดื่มชา หรือบางคนไม่ดื่มกาแฟก็ดื่มชาแทน การทำชาสมุนไพรนี้ถือว่าประสบความสำเร็จมาก เห็นได้จากการออกงานไทยเฟ็กซ์ ก็ได้กลุ่มลูกค้าญี่ปุ่นที่ชื่นชอบมาก ซึ่งจะส่งผ่านบริษัทในเมืองไทยไป แต่ว่าตอนนี้กำลังการผลิตของบริษัทไม่เพียงพอ กำลังการผลิตทำได้ปีละ 400 กิโลกรัม แต่ความต้องการสินค้ามีสูงถึง 15 ตัน ต่อปี
สำหรับชาต้มข่าเป็นชาสีขุ่น มีกะทิที่เป็นมะพร้าวอบแห้งอยู่ด้วย เวลาโดนน้ำจะมีลักษณะทำให้น้ำมันขุ่น ชานี้จะช่วยในเรื่องของการย่อยอาหาร ส่วนใหญ่กลุ่มลูกค้าชาเป็นกลุ่มต่างประเทศ กลุ่มคนไทยยังน้อย

คุณนฤมลพูดถึงการทำตลาดต่างประเทศว่า ปีที่ผ่านมาฮิลล์คอฟฟ์ได้รับการรับรองเครื่องหมายฮาลาล เป็นปีที่ 7 และได้ไปออกงานที่ประเทศมาเลเซีย และได้ดีลเลอร์ทันที พร้อมทั้งขอซื้อแฟรนไชส์ แต่บริษัทไม่มีระบบแฟรนไชส์ ทางดีลเลอร์เลยไปเปิดร้าน ชื่อ ฮิลล์คอฟฟ์มาเลเซีย ที่ปีนัง
จากกรณีที่ลูกค้ามาเลเซียสนใจซื้อแฟรนไชส์ ทำให้ทางบริษัทได้แง่คิดอะไรหลายอย่าง
“เรามองตัวเองใหม่เลย เพราะเขาบอกว่าร้านของคุณมีครบทุกอย่าง แบบที่คนอยากได้ แต่ว่าคุณไม่มีคอนเซ็ปต์ทำให้ต้องกลับมาคิดว่า เรามองแต่พัฒนาของข้างในร้าน แต่เราไม่เคยพัฒนาเรื่องรูปโฉม ระบบนี้มีอยู่แล้ว แต่เรื่องรูปโฉม ความสวยเก๋ ตอนนี้ทางมาเลเซียพัฒนาเร็วกว่าเรามาก และเขาพยายามทำงานคู่ไปกับเรา เพื่อไปสู่ตลาดใหม่”
การที่ลูกค้ามาเลเซียสนใจธุรกิจกาแฟของฮิลล์คอฟฟ์ ส่วนหนึ่งเพราะดีลเลอร์ได้พานักธุรกิจที่สนใจกว่า 10 คน จ่ายเงินมากันคนละ 13,000 บาท เพื่อมาศึกษาดูงานกิจการของฮิลล์คอฟฟ์ที่เชียงใหม่ ตั้งแต่กระบวนการปลูก เก็บกาแฟ และขั้นตอนการคั่ว ทำให้เกิดความเชื่อมั่นคุณภาพของกาแฟไทย

คุณนฤมล บอกด้วยว่า ปัจจุบันบริษัทมีเครือข่ายหมู่บ้านเกษตรกรในภาคเหนือ ประมาณ 90 หมู่บ้าน รวมถึงที่ภูเรือ จังหวัดเลย เพชรบูรณ์ และตากก็มี ทั้งหมดเป็นกาแฟอาราบิก้าหมด ส่วนโรบัสต้าซื้อมาจากทางใต้ ชุมพร ระนอง เป็นอีกแบรนด์หนึ่ง ชื่อ ราติก้า
เปิดศูนย์เรียนรู้แห่งใหม่ที่แม่แตง
อย่างที่เกริ่นไว้ บริษัท ชาวไทยภูเขา (ฮิลล์คอฟฟ์) จำกัด ทำธุรกิจกาแฟแบบครบวงจรจริงๆ และเน้นกาแฟไทยเป็นหลัก ไม่ได้นำเข้ากาแฟนอกแต่อย่างใด โดยมีแหล่งปลูกกาแฟ-ชาของบริษัทเองอยู่ที่ดอยช้างจำนวน 200 ไร่ เพื่อทำเป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้ และต้นปีหน้าจะเปิดศูนย์การเรียนรู้แห่งที่ 2 ที่อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ ในเนื้อที่ 60 ไร่ เป็นพื้นที่ที่แสดงนวัตกรรมเกี่ยวข้องกับกาแฟและงานวิจัยทั้งหมด โดยจะมีที่พัก มีห้องแสดงสินค้า มีศูนย์นิทรรศการ และมีห้องประชุมด้วย
“ศูนย์นี้จะเป็นแหล่งเรียนรู้ทั้งกระบวนการ เพราะเราใช้ทุกอย่างของกาแฟ ไม่มีทิ้งเลย ลูกค้าที่ซื้อเมล็ดกาแฟ เวลาชงกาแฟต้องเคาะกากทิ้ง เราขอซื้อคืนเขามาทำวัสดุใหม่ ที่เกิดจากการหลอมรวมกัน เช่น คอมโพซิตยาง, คอมโพซิตเมลามีน นำมาทำเป็นของตกแต่ง เป็นวัสดุใช้ในบาร์กาแฟ
สนใจจะเรียนรู้เรื่องกาแฟ ติดต่อได้ที่ โทรศัพท์ (053) 213-078, (082) 762-9257 หรือไปที่ http://www.hillkoff.com จะมีข้อมูลข่าวสารตั้งแต่ต้นน้ำ ให้เรียนรู้ว่าบริษัททำเรื่องอะไรบ้าง”
ถามถึงการเข้าสู่เขตเศรษฐกิจพิเศษอาเซียนหรือ AEC มีผลต่อกาแฟไทยอย่างไรบ้าง ประเด็นนี้ คุณนฤมล แจกแจงว่า บริษัทก็กังวลเหมือนกัน เพราะต้นทุนกาแฟของไทยสูงกว่าประเทศอื่นมาก ราคาไม่ลดลงเลย กลับแพงขึ้นเพราะตลาดผู้บริโภคในประเทศแรงกว่า มองว่าในอนาคตไทยต้องเป็นพี่ใหญ่ของประเทศรอบๆ ถึงแม้ไม่ใช่พี่ใหญ่ของด้านเอ็กซ์ปอเตอร์ประเทศผู้ส่งออก เพราะพื้นที่ปลูกไม่พอจะทำส่งออกด้วยซ้ำไป แต่ว่าการเรียนรู้และความลึกซึ้งเรื่องกาแฟมากที่สุด ตลาดผู้บริโภคในไทยแอดวานซ์สุด เพราะฉะนั้น คนอื่นต้องมาเรียนรู้ที่บ้านเรา
นับเป็นอีกบริษัทที่นำผลวิจัยและนวัตกรรมมาใช้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งนอกจากจะทำให้ได้ผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ แล้วยังสามารถนำวัตถุดิบมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ขณะเดียวกัน กระบวนการผลิตต่างๆ ก็เป็นการรักษาสิ่งแวดล้อมไปในตัวด้วย
ผู้เขียน : ภาวิณีย์ เจริญยิ่ง เส้นทางเศรษฐีออนไลน์ มติชน