วันจันทร์ที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2559

ชนิดของเครื่องคั่วกาแฟ


ปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการคั่วกาแฟได้แก่ อุณหภูมิในเครื่องคั่ว ระยะเวลาในการคั่วกาแฟ ปริมาณกาแฟที่นำเข้าสู่เครื่องคั่ว และความชื้นของเมล็ดกาแฟที่นำมาคั่ว ซึ่งชนิดของเครื่องคั่วกาแฟที่มีหลายแบบก็ส่งผลต่ออุณหภูมิในการคั่วด้วยเช่นกัน ด้วยวิธีการคั่วกาแฟที่แตกต่างกันนี้จะทำให้ได้รสชาติและกลิ่นที่แตกต่างกันออกไป ชนิดของเครื่องคั่วกาแฟที่ใช้กันอย่างแพร่หลาย มีดังนี้
เครื่องคั่วแบบ Drum Roasters : ได้ถูกคิดค้นขึ้นมาในราวศตวรรษที่ 20 เป็นที่นิยมกันในหมู่นักคั่วที่มีความชำนาญ วัสดุภายในถังคั่วเป็นโลหะ หมุนด้วยความเร็วต่ำอยู่เหนือเปลวไฟ เครื่องคั่วชนิดนี้ถูกออกแบบให้สามารถควบคุมเปลวไฟและความร้อนได้ และยังสามารถควบคุมการหมุนเวียนของอากาศในเครื่องคั่วได้อีกด้วย เมล็ดกาแฟจะสัมผัสกับถังที่ร้อนโดยตรง กลิ้งไปกลิ้งมาจนกว่าเมล็ดกาแฟจะสุก โดยความร้อนในถังคั่วและความเร็วรอบในการหมุนถังคั่วจะมีผลต่อรสชาติของกาแฟ เครื่องคั่วชนิดนี้ได้ถูกผลิตออกมาหลายขนาด ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นขนาด 500 kg

เครื่องคั่วแบบ Fluid-Bed Roasters : ได้ถูกคิดค้นขึ้นมาในปี 1970 โดย Michael Sivetz เป็นการคั่วกาแฟแบบใช้ลมร้อนพ่นผ่านเมล็ดกาแฟจากทางด้านล่างของเครื่อง เมล็ดกาแฟจะถูกลมดันให้เกลือกกลิ้งขึ้นไปพร้อม ๆ กับการให้ความร้อนด้วยลมจนกว่าเมล็ดกาแฟจะสุก อุณหภูมิของลมและความเร็วลมจะมีผลต่อรสชาติของกาแฟ ลมที่แรงเกินไปหรือเบาเกินไปก็จะมีผลต่อความสม่ำเสมอของการสุกด้วยเช่นกัน กระบวนการคั่วแบบ Fluid-Bed Roasters นี้จะใช้เวลาในการคั่วน้อยกว่าแบบ Drum Roasters
เครื่องคั่วแบบ Tangential Roasters : ถูกสร้างขึ้นโดยบริษัท Probat เครื่องคั่ว Tangential Roasters นี้มีความคล้ายคลึงกับเครื่องคั่วแบบ Drum Roasters ขนาดใหญ่ แต่จะมีพลั่วภายในช่วยให้กาแฟพลิกตัวอย่างสม่ำเสมอในระหว่างที่ทำการคั่ว ซึ่งจะทำให้คั่วกาแฟให้สุกได้เร็วขึ้นและมีประสิทธิภาพมากขึ้น
เครื่องคั่วแบบ Centrifugal Roasters : เป็นเครื่องคั่วแบบแรงเหวี่ยง ภายในออกแบบให้เป็นลักษณะกรวยคว่ำขนาดใหญ่ เมล็ดกาแฟจะถูกเหวี่ยงขึ้นยังผนังที่ได้รับความร้อนแล้วตกลงมายังกรวยด้านล่าง แล้วถูกเหวี่ยงกลับขึ้นไปอีกซ้ำไปซ้ำมาจนเมล็ดกาแฟสุก การคั่วด้วยเครื่องชนิดนี้จะใช้เวลาเพียง 90 วินาทีเท่านั้นเอง ซึ่งเป็นการคั่วกาแฟในปริมาณมากกว่าและสุกรวดเร็วได้อย่างไม่น่าเชื่อ
ความเปลี่ยนแปลงขององค์ประกอบทางเคมีและโครงสร้างทางกายภาพของเมล็ดกาแฟหลังจากที่คั่วแล้ว โดยหลังจากที่คั่วกาแฟสุกแล้ว เมล็ดกาแฟจะมีการสูญเสียน้ำหนักเนื่องจากการสูญเสียความชื้น มีการคลายก๊าซอย่างช้า ๆ ระหว่างการคั่วและหลังจากคั่วแล้วก็ยังคงคลายก๊าซออกมาเรื่อย ๆ เมล็ดกาแฟจะมีการขยายขนาดใหญ่ขึ้นประมาณร้อยละ 40-70 เมล็ดกาแฟจะลดความหนาแน่นในตัวลง โดยจะกรอบ เปราะ และแตกหักง่ายขึ้น เมล็ดกาแฟเปลี่ยนเป็นสีเข้มขึ้นเพราะความร้อนทำให้องค์ประกอบของน้ำตาลโมเลกุลใหญ่และซูโครสในเมล็ดเปลี่ยนสภาพเป็นสารเหนียวสีน้ำตาลเข้มเคลือบผิวของเมล็ด
ลักษณะของการเปลี่ยนแปลงขององค์ประกอบทางเคมีและโครงสร้างทางกายภาพของเมล็ดกาแฟคั่วที่กล่าวมานี้ย่อมมีตัวแปรจากความชื้นในเมล็ดกาแฟที่ต่างกัน ปริมาณกาแฟที่คั่วในแต่ละครั้ง การควบคุมความร้อน เวลาที่สัมพันธ์ และการเลือกใช้เครื่องคั่วที่ต่างกันนั่นเอง โดยการคั่วกาแฟแบบความร้อนสูงและใช้ระยะเวลาอันสั้นจะทำให้มีการเปลี่ยนแปลงของของแข็งที่ละลายน้ำได้มีมากกว่าปกติ และเครื่องคั่วแบบไฮสปีดจะลดอัตราการสูญเสียน้ำหนักหลังจากการคั่วได้
ผู้แปลและเรียบเรียงบทความ : เทรนเนอร์เกียว
--- พบกับหลากหลายบทความดี ๆ จากประสบการณ์ความรู้และทักษะของเหล่า ❝ เทรนเนอร์ ฮิลล์คอฟฟ์ ❞ ได้ที่นี่ www.facebook.com/ilovehillkoff และ www.hillkoff.com ในบทความดี ๆ ตอนต่อไปนะคะ
บทความนี้เขียนและเรียบเรียงด้วยถ้อยคำของเทรนเนอร์เอง ทั้งนี้ได้มีการหาข้อมูลเพิ่มเติมจากสื่อทั้งในและต่างประเทศ โดยเนื้อหาส่วนมากในบทความนี้แปลมาจากหนังสือ The World Atlas Of Coffee by James Hoffmann

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น